กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (7 ก.ค.) ว่า เงินเดือนพื้นฐาน (base salary) เพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2538 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้รายได้เงินสดรวม หรือที่เรียกว่าค่าจ้างตามตัวเลข (nominal wages) ของพนักงานเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนพ.ค. หลังจากปรับเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.
ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานข่าวเมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) ที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (Rengo) ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเสนอขึ้นค่าแรงเฉลี่ยที่ระดับ 3.58% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ระดับ 3.9% เมื่อปี 2536
อย่างไรก็ดี ค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) ซึ่งปรับค่าเงินเฟ้อแล้วนั้น ลดลง 1.2% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเมื่อเทียบรายปีจะถือเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคแซงหน้าการเติบโตของค่าจ้างตามตัวเลข ทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าค่าจ้างที่แท้จริงจะยังคงหดตัวต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2566
ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวลง 4.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และร่วงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าอาจลดลง 2.4% โดยข้อมูลดังกล่าวเผยให้เห็นการใช้จ่ายที่ลดลงสำหรับสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า ไปจนถึงค่าเดินทาง
เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแบบปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวลง 1.1% ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และสวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.5%
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเติบโตของค่าแรงเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากใช้ในการประกอบการพิจารณาว่าเมื่อใดที่ควรยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy)
ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิที่เผยแพร่ในวันนี้ นายชินอิจิ อูชิดะ รองผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า ธนาคารกลางจะต้องสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปด้วยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ