สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 เนื่องจากบรรดารัฐบาลได้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระหนี้อย่างมาก
รายงานระบุว่า หนี้ในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแซงหน้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2545
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนว่า "ตลาดอาจดูเหมือนยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้คนล้วนได้รับผลกระทบแล้ว" พร้อมเสริมว่า "บางประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกำลังถูกบีบให้เลือกระหว่างการชำระหนี้หรือการรับใช้ประชาชน"
ประเทศกำลังพัฒนาเป็นหนี้เกือบ 30% ของหนี้สาธารณะทั่วโลก โดยจีน อินเดีย และบราซิล มีหนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 70% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 60% ซึ่งบ่งชี้ถึงภาระหนี้ที่ระดับสูง
รายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า "หนี้กลายเป็นภาระที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผลจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น การลดค่าเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซา"
นอกจากนี้ UN เน้นย้ำว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่เพียงพอและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยชี้ว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กว่า 50 ประเทศ มีภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยสุทธิสูงกว่า 10% ของรายได้
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า "ในแอฟริกา จำนวนเงินที่ใช้ในการชำระดอกเบี้ยสูงกว่างบด้านการศึกษาหรือสาธารณสุข" โดยพบว่ามีประชากร 3.3 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยมากกว่าจะทุ่มงบไปกับด้านการศึกษาหรือสาธารณสุข