ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) เปิดเผยว่า เมียนมาเล็งสร้างเสถียรภาพสกุลเงินจ๊าต (kyat) เพื่อควบคุมแรงกดดันด้านราคา ขณะที่สกุลเงินจ๊าตอ่อนค่าลงในตลาดมืด
นายวิน มยินต์ (Win Myint) ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายจัดการสกุลเงินของ CBM ระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) ว่า "CBM กำลังจับตาอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ โดยมีการติดตามการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศทุกวันอย่างใกล้ชิด หากมีความต้องการสกุลเงินต่างประเทศในตลาด เราจะจัดสรรเงินให้กับธนาคาร, ผู้นำเข้า และธุรกิจต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศ"
การแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของ CBM มีขึ้น ท่ามกลางการออกธนบัตรมูลค่า 20,000 จ๊าตในเดือนนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า จะมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นราคาเพิ่มขึ้นและทำให้สกุลเงินจ๊าตอ่อนค่าลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นประกอบกับเงินจ๊าตที่มีความผันผวนมากขึ้น กำลังเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งของเมียนมาซึ่งได้รับการดูแลโดยรัฐบาลทหารที่ใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
CBM ระบุว่า แต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนธนบัตรเก่าหรือธนบัตรที่ชำรุดเป็นธนบัตรใหม่มูลค่า 20,000 จ๊าดได้สูงสุดจำนวน 3 ใบเท่านั้น เพื่อไม่ให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น และไม่กระตุ้นให้ราคาพุ่งขึ้น
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารโลกบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของเมียนมาเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 18.3% เมื่อเทียบรายปีในเดือนก.ย. 2565 และคาดว่าจะผ่อนคลายลงสู่ระดับ 14% ในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3/2566 ธนาคารโลกระบุว่า ค่าเงินของเมียนมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในตลาดมืดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. หลังจากที่มีเสถียรภาพอยู่นานหลายเดือน เนื่องจากอุปสงค์การนำเข้าและการชำระเงินด้วยสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเมียนมากำหนดเพดานอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 2,100 จ๊าตต่อดอลลาร์ในตลาดทางการตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว โดยการเปลี่ยนมากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ตายตัวข้างต้นมีขึ้นหลังสกุลเงินอ่อนค่าลง 40% นับตั้งแต่สิ้นปี 2563
นายวิน มยินต์กล่าวว่า "มีการจับตาปริมาณเงินทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี และเรามั่นใจว่าปริมาณเงินนั้นเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้" และเสริมว่า "CBM กำลังดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมในระดับปานกลาง" โดย CBM ได้ปรับอัตราส่วนทุนสำรองขั้นต่ำ (Required Reserve Ratio) ขึ้น 0.5% สู่ระดับ 3.5% ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการใช้เงินหยวนเพื่อทำการค้ากับจีนและใช้สกุลเงินบาทกับไทย และขณะนี้ CBM อยู่ระหว่างการเจรจากับอินเดียเกี่ยวกับการชำระเงินด้วยสกุลเงินจ๊าต-รูปี และกลไกการชำระเงิน