สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานในวันนี้ (10 ส.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค
ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ของฟิลิปปินส์ขยายตัว 4.3% ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 6.4% ในไตรมาส 1 และ 7.1% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.9% ซึ่งย่ำแย่กว่าในไตรมาส 1 ที่มีการขยายตัว 1.1% และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ว่าจะขยายตัว 0.5%
รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ตัวเลข GDP ชะลอตัวลง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับการที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์จัดการเลือกตั้ง
"สำหรับในไตรมาส 2 นั้น เศรษฐกิจขยายตัวปานกลางเพราะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนเชิงพาณิชย์ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การใช้จ่ายที่ลดลงของรัฐบาล และการขยายตัวที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจทั่วโลก" กระทรวงเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 2 อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ทบทวนว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหรือจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17 ส.ค.นี้
ในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 6.25% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์