สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (15 ส.ค.) ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ปรับตัวขึ้นเพียง 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่มีการขยายตัว 4.4% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจปรับตัวขึ้น 4.4%
ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ขยับขึ้นเพียง 2.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 4.5% แม้ว่าเดือนก.ค.เป็นฤดูการท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนของจีนก็ตาม
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed asset investment) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจปรับตัวขึ้น 3.8% หลังจากที่มีการขยายตัว 3.8% ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.
นอกจากนี้ NBS รายงานว่า อัตราว่างงานเดือนก.ค.ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 5.3% จากระดับ 5.2% ในเดือนมิ.ย. ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.ค.ลดลง 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเป็นการปรับตัวลงรุนแรงกว่าในเดือนมิ.ย.
ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดในวันนี้ มีขึ้นหลังจากที่จีนเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนแอในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงยอดส่งออกที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก, ยอดการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนในเดือนก.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญภาวะเงินฝืด
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวอาจจะผลักดันให้ทางการจีนเร่งออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยล่าสุดในวันนี้ ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ลง 0.15% สู่ระดับ 2.50% ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ที่ระดับ 2.65%
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางจีนยังสะท้อนให้เห็นว่า จีนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากบริษัทคันทรี การ์เดน ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนเผชิญวิกฤตหนี้สินและยอดขายบ้านที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง