รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยในวันนี้ (18 ส.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ขยายตัวเพียง 2.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า GDP อาจขยายตัว 3.3%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตัวเลข GDP อ่อนแอลงอย่างมากนั้น มาจากการส่งออกที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยทางการมาเลเซียเปิดเผยว่า ยอดส่งออกในเดือนก.ค.ร่วงลง 13.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.1675 แสนล้านริงกิต (2.515 หมื่นล้านดอลลาร์) ส่วนยอดการนำเข้าในเดือนก.ค.ร่วงลง 15.9% สู่ระดับ 9.966 หมื่นล้านริงกิต
ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 2 ได้สร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางมาเลเซีย โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่า GDP ตลอดปี 2566 จะขยายตัวต่ำที่ระดับล่างของกรอบ 4%-5% ที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
นายอับดุล ราชีด กาฟโฟร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า "อุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอลงนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะกลาง โดยขณะนี้เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงที่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด รวมทั้งวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่กินเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้"
เศรษฐกิจมาเลเซียซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถดถอย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินริงกิตและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของมาเลเซียนั้น ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียด้วย