กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (5 ก.ย.) ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเดือนก.ค. ปรับตัวลง 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้ว และหนักกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงเพียง 2.5%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแบบปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นเดือนก.ค. ปรับตัวลง 2.7% สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% และถือเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 โดยผู้บริโภคลดการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์และโทรคมนาคม
การใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนขึ้นไป อยู่ที่ 281,736 เยน (1,900 ดอลลาร์สหรัฐ)
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงกว่าการปรับขึ้นค่าแรง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาจะขยายเวลาการให้เงินอุดหนุนน้ำมันเบนซินออกไปเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน และวางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวดีเกินคาดในไตรมาสที่ 2/2566 แต่ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์นอกประเทศ เช่น การส่งออกและการท่องเที่ยวขาเข้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชนกลับลดลง 2.1% ต่อปีในไตรมาสดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังส่งผลกระทบต่อการเงินในภาคครัวเรือนและอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต้องสะดุด