สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.4% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 2.7%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการขยายตัวรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2560 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% โดยข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) หันมาจับตาภาวะเงินเฟ้อในประเทศอีกครั้ง
BOK คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับราว 3% ในเดือนส.ค.และเดือนก.ย. ก่อนที่จะชะลอตัวลง ซึ่งหมายความว่าดัชนี CPI เดือนส.ค.ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับคณะกรรมการ BOK
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคส่วนพบว่า ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 8.1% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรทะยานขึ้น 10.5% และราคาด้านการบริการสาธารณะปรับตัวขึ้น 0.5%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานซึ่งมีความผันผวน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก.ค.
ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOK มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 โดย BOK ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของเงินเฟ้อ ท่ามกลางความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ