อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์เคลื่อนไหวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางคาดการณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือนส.ค. โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและการขนส่ง ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 4.7% เทียบกับ 4.7% ในเดือนก.ค. แต่ยังคงอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 4.8% - 5.6% สำหรับเดือนส.ค.ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวน ชะลอตัวลงสู่ 6.1% ในเดือนส.ค. จาก 6.7% ในเดือนก.ค.
ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนส.ค.เป็นการตอกย้ำความคิดของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่มองว่า ฟิลิปปินส์ยังไม่รอดพ้นจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและเพิ่มความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง หลังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.25% ในการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา
หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์ว่า "ธนาคารกลางฟิลิปปินส์พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจุดยืนนโยบายการเงินหากมีความจำเป็น" เพื่อป้องกันแรงกดดันเงินเฟ้อแบบเป็นวงกว้างและการเกิดผลกระทบแบบต่อเนื่อง
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีกำหนดจัดการประชุมนโยบายการเงินครั้งถัดไปในวันที่ 21 ก.ย.