รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (22 ก.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้ BOJ เริ่มพิจารณายกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ(Ultra-loose Policy)
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยของตลาดที่ระดับ 3.0% โดยดัชนี CPI พื้นฐานเดือนส.ค.ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 3.1%
ส่วนดัชนี Core-Core CPI ซึ่งไม่รวมทั้งราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี และเป็นการขยายตัวในอัตราเดียวกับเดือนก.ค.เช่นกัน
ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงนี้ อาจจะทำให้ BOJ ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในไม่ช้านี้
ส่วนในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า BOJ มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หลังจากนายอุเอดะให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ว่า BOJ จะมีข้อมูลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอภายในสิ้นปีนี้เพื่อระบุว่า จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อใด