รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (29 ก.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ลดลงเล็กน้อยจากของเดือนส.ค.ที่ 2.9% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าเริ่มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของโตเกียว (core CPI) ซึ่งไม่รวมรายการอาหารสดที่ผันผวน แต่รวมราคาพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่การปรับขึ้น 2.6% และลดลงจากระดับ 2.8% ของเดือนส.ค. แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคโตเกียวแบบที่ไม่รวมทั้งรายการอาหารสดและราคาพลังงาน ซึ่ง BOJ จับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะตัวชี้วัดแนวโน้มเงินเฟ้อในวงกว้างที่ดีกว่า ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 4.0% ของเดือนส.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกพุ่งสูงขึ้นในปีที่แล้ว เป็นเหตุให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากปรับขึ้นราคาสินค้าและผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภค ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ เป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้
นายมาร์เซล เธียเลียนท์ หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า "แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลดลงในขณะนี้ แต่ก็ยังคงลดลงช้ากว่าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ ดังนั้น คณะกรรมการ BOJ จะต้องปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันให้สูงขึ้นอีกในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนต.ค.นี้"
"มุมมองของเราคือ BOJ จะใช้โอกาสนี้ในการยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบ และได้วางแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.ปีหน้า"