ข้อมูลจากตลาดหุ้นไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เผยให้เห็นว่า ชาวต่างชาติแห่เทขายหุ้นในเอเชียรวมเป็นเงินสุทธิ 1.126 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ย. ซึ่งนับเป็นการไหลออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565
แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เฟดก็ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปี โดยระบุว่า นโยบายการเงินมีแนวโน้มจะเข้มงวดยิ่งขึ้นตลอดปี 2567 เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ 4.688% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อหุ้นเอเชีย โดยดัชนี MSCI Asia Pacific Index ร่วงลง 2.9% ในเดือนก.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 156.37
นายทิโมธี โม หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านหลักทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า "อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐส่งผลกระทบเชิงลบมากขึ้นต่อทุกตลาดและทุกภาคส่วนของเอเชีย ซึ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลเสียต่อผลตอบแทนของหุ้น"
หุ้นของไต้หวันประสบกับการไหลออกของเงินตราต่างชาติราว 6.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการไหลออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565
นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังขายหุ้นอินเดียมูลค่าสุทธิ 1.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการเทขายสุทธิครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
ข้อมูลระบุว่า หุ้นเกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามได้ประสบกับการไหลออกของเงินตราต่างชาติมูลค่าสุทธิ 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นเอเชียยังเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหม่จากการปะทะกันทางทหารระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ ส่งผลให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุน ซึ่งบั่นทอนความต้องการเสี่ยง
นายคูน โกห์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป (ANZ Bank) กล่าวว่า "ความขัดแย้งดังกล่าวได้ผลักดันให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะสั้น"