เมื่อเทียบเป็นรายปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอินโดนีเซีย (GDP) ขยายตัว 4.94% ในไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะแตะระดับ 5.05% และต่ำกว่า GDP ในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ 5.17%
เมื่อเทียบรายไตรมาสแบบไม่มีการปรับค่าตามฤดูกาล GDP อินโดนีเซียขยายตัว 1.60% ในไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าที่โพลรอยเตอร์คาดว่าจะแตะระดับ 1.71%
GDP ดังกล่าวยังออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลที่ 5.10% โดยรัฐบาลหวังว่าการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการหาเสียงสำหรับเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 ก.พ. 2567 จะช่วยชดเชยยอดส่งออกที่ลดลงได้บางส่วน
การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 5.06% ในไตรมาสที่ 3 ลดลงจากระดับ 5.22% ในไตรมาสที่ 2 การชะลอตัวนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เนื่องจากการบริโภคในครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP
การส่งออกหดตัวมากขึ้นถึง 4.26% ในไตรมาสที่ 3 หนักกว่าที่ลดลง 2.97% ในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีการเติบโตในเชิงบวก โดยเพิ่มขึ้น 5.77% ในไตรมาสที่ 3 สูงขึ้นจาก 4.63% ในไตรมาสที่ 2