สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจลดลง 0.1% หลังจากดัชนีทรงตัวในเดือนก.ย.
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.6% ในเดือนต.ค. ซึ่งมากกว่าในเดือนก.ย.ที่ลดลง 2.5% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจลดลง 2.7% โดยดัชนี PPI ของจีนปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแม้ว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (1.3743 แสนล้านดอลลาร์) และให้โควตาแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการออกพันธบัตรปี 2567 แต่จีนยังคงเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความเสี่ยงของปัญหาหนี้สินในประเทศ และการที่จีนดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับประเทศตะวันตก