รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (8 ธ.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 หดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอเกินคาด และการชะลอตัวของการส่งออก
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นอาจหดตัวลง 2.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี
รัฐบาลญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 0.5% และเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะหดตัว 0.5%
การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP นั้น ปรับตัวลง 0.2% ในไตรมาส 3 ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลงเพียง 0.04% เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้ผู้บริโภคปรับลดการใช้จ่าย
ส่วนการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศ ปรับตัวลง 0.4% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 0.6%
ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งน้อยกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น 0.5% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งน้อยกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวขึ้น 1.0%