รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดและเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 2.5% ในเดือนพ.ย. โดยดัชนี CPI พื้นฐานเดือนธ.ค.ถือเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565
อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21
BOJ คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ เริ่มอ่อนแรงลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้นทุนดังกล่าวพุ่งขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
สำหรับหมวดสินค้าที่มีส่วนช่วยหนุนดัชนี CPI พื้นฐานในเดือนธ.ค.ได้แก่ ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% และค่าที่พักพุ่งขึ้น 59.0% ท่ามกลางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19
ส่วนราคาพลังงานร่วงลง 11.6% โดยราคาไฟฟ้าลดลง 20.5% และราคาก๊าซลดลง 20.6% เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายอุดหนุนเพื่อลดภาระให้กับภาคครัวเรือน
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินระยะเวลา 2 วันของ BOJ โดยจะเริ่มขึ้นในวันที่ 22 ม.ค. และจะแถลงผลการประชุมในวันที่ 23 ม.ค.
ส่วนในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 นั้น คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับ 0%
นอกจากนี้ ที่ประชุม BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) จากการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ"reference point" เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น