เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (1 ก.พ.) ว่า ในปี 2566 ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในเอเชียอาจผ่านพ้นจุดที่แย่ที่สุดของการชะลอตัวในภาคการผลิต
รายงานระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ที่มีการปรับค่าตามฤดูกาล แตะระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.9 ในเดือนธ.ค. ซึ่งขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565
นายอุสมะห์ ภัตตี นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์กล่าวว่า "สภาวะของภาคการผลิตของเกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี 2567 ผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และการส่งออกทั้งหมดกลับมาขยายตัว ในขณะที่การจัดซื้อก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"
"การเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดมาจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 การขยายตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่" นายภัตตีกล่าวเสริม
ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามอยู่ที่ 50.3 ในเดือนม.ค. จากระดับ 48.9 ในเดือนธ.ค ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของอินโดนีเซียอยู่ที่ 52.9 ในเดือนม.ค. จากระดับ 52.2 ในเดือนธ.ค ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตโดยรวมสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 50.3 ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจาก 49.7 ในเดือนธ.ค ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ขยับขึ้นเหนือระดับ 50 ในรอบ 5 เดือน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ตัวเลข PMI ที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว โดยข้อมูลจากการสำรวจ PMI เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตไต้หวัน มาเลเซีย และไทยสำหรับเดือนม.ค. ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 แต่ดัชนี PMI ของมาเลเซียแตะที่ระดับ 49 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 17 เดือน ส่วนไต้หวันและไทยดีกว่าระดับของเดือนธ.ค.
สำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่เอเชีย IMF คาดการณ์เมื่อเดือนม.ค.ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 5.2% ในปี 2567 ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัว 5.4% ในปี 2566 แต่เพิ่มขึ้น 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากตัวเลขที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นกว่าที่คาดการณ์ของสหรัฐและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน