สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ (6 มี.ค.) ว่า อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ทะลุระดับ 3% ในเดือนก.พ. เนื่องจากผลไม้สดและพลังงานมีราคาสูง
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าระดับ 2.8% ในเดือนม.ค.
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากราคาผลไม้หลัก 18 ชนิดที่พุ่งขึ้น 41.2% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 32 ปี โดยราคาแอปเปิลและส้มเขียวหวานพุ่งสูงขึ้น 71% และ 78.1% ตามลำดับ ด้านราคาผลิตผลทางการเกษตรโดยรวมพุ่งขึ้น 20.9% ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.8 จุดเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานก็สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเช่นกัน โดยราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมปรับลดลงเพียง 1.5% ในเดือนก.พ. เทียบกับที่ลดลง 5.0% ในเดือนม.ค. ท่ามกลางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
ราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเกาหลีใต้ใช้เป็นมาตรวัดราคาน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 80.88 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนก.พ. เทียบกับระดับ 78.85 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนม.ค. และ 77.33 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนม.ค.
สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ประเมินว่าเงินเฟ้อจะคลายตัวลงช้ากว่าที่คาดการณ์ ก่อนจะลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ประมาณปลายปี 2567
นายชเว ซางมก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการเต็มที่เพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยจัดสรรงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6 หมื่นล้านวอน (44.9 ล้านดอลลาร์) เพื่อดำเนินโครงการลดราคาผลิตผลทางการเกษตรในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. โดยหวังดึงราคาผลไม้ให้ลดลง และรัฐบาลจะลดภาษีนำเข้าผลไม้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นายชเวกล่าวว่าจะมีคณะทำงานเฉพาะกิจคอยติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และผู้ละเมิดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง