เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวในอัตราต่ำมากในไตรมาส 4/2566 (ต.ค.-ธ.ค.) เนื่องจากแรงกดดันต่อรายได้ครัวเรือนทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคหยุดชะงัก ซึ่งเป็นการยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงนั้นทำงานได้ผลดีเกินไปในการคุมดีมานด์
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ (6 มี.ค.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (real GDP) เพิ่มขึ้น 0.2% ในไตรมาส 4/66 เมื่อเทียบรายไตรมาส ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3% หลังจากที่มีการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีการปรับค่าขึ้นแล้ว
เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP เติบโตชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.5% ในไตรมาส 4/66 เทียบกับ 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ออสเตรเลียกำลังฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด-19
สัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของดีมานด์ภายในประเทศคือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตเลยในไตรมาส 4/66 เนื่องจากการใช้จ่ายสินค้าจำเป็นที่เพิ่มขึ้น 0.7% ถูกหักล้างด้วยการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลง 0.9%
แคทเธอรีน คีแนน หัวหน้าฝ่ายบัญชีประชาชาติของสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า "ครัวเรือนเพิ่มการจับจ่ายสินค้าจำเป็น เช่น ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน อาหาร และสุขภาพ แต่ลดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น รวมถึงค่าโรงแรม ร้านกาแฟและร้านอาหาร บุหรี่และยาสูบ รถยนต์ใหม่ ไปจนถึงเสื้อผ้าและรองเท้า"
รายงานระบุด้วยว่า GDP ต่อหัวของออสเตรเลียลดลง 0.3% ในไตรมาส 4/66 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2525
แม้ว่าอัตราส่วนการออมของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 3.2% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำหลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับไตรมาส 4/66 นั้น การค้าสุทธิถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต โดยการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวออสเตรเลียจับจ่ายสินค้าต่างประเทศน้อยลง มีส่วนช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ถึง 0.7 จุดเปอร์เซ็นต์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การชะลอตัวของ GDP เป็นผลมาจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เพื่อดึงเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2-3% ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.5% ณ สิ้นปี 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี และจะแตะระดับ 1.3% ในช่วงกลางปี 2567
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางออสเตรเลียได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.35% หลังจากขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ด้านอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคอยู่ที่ 3.4% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสองปี นับเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นอีก