จีนลงทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 37% ในปี 66 อินโดฯ คว้าเม็ดเงินลงทุนมากสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2024 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานฉบับใหม่จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า การลงทุนของบริษัทจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

รายงานระบุว่า จีนได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 37% แตะเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ทั่วเอเชียแปซิฟิกในปี 2566 และเพิ่มขึ้นประมาณ 14% จากปี 2565 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นค่าสัญญาก่อสร้างมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากจีน

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสวนทางอย่างมากกับยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลดลง 12% ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียเมื่อปีที่ผ่านมา โดยการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นในสัปดาห์เดียวกันกับที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเมื่อปีที่แล้ว แม้นักวิเคราะห์จะเล็งเห็นถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ซบเซาทั่วโลกรวมถึงในจีน การผลิตที่เผชิญกับข้อจำกัด และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

นายคริสตอฟ เนโดพิล ผู้อำนวยการของสถาบันกริฟฟิธเอเชียระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ของจีนมุ่งเน้นไปที่ประเทศสมาชิกแนวร่วมโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ในขณะที่การลงทุนในโครงการอื่น ๆ นอกเหนือจาก BRI ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 120 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากระดับต่ำสุดก่อนหน้าของปี 65 ถึง 90%

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกโครงการ BRI คิดเป็นสัดส่วน 92% ของสัญญาก่อสร้างทั้งหมด

การลงทุนในระดับภูมิภาคของจีนในปี 2566 ราว 50% อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% จากเมื่อปีที่แล้ว โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศถือครองสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนมากที่สุดที่ประมาณ 7.3 พันล้านดอลลาร์

นายเนโดพิลเสริมว่า "มีเหตุผลหลายประการ แต่หลักๆ เกิดจากความเสี่ยงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ที่ย่ำแย่ลง"

ทั้งนี้ การลงทุนที่น่าจับตามองในภาครถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ การก่อตั้งบริษัทร่วมค้าระหว่างบริษัท เจ้อเจียง หัวโหย่ว โคบอลต์ (Zhejiang Huayou Cobalt) และแอลจี เคม (LG Chem) ในเกาหลีใต้ และการลงทุนในโรงงานของเหล่าผู้ผลิตรถยนต์จีนในประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ