บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเตรียมเสนอขึ้นค่าจ้าง ในการประชุมค่าจ้างประจำปีกับสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 มี.ค. ซี่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นว่า ระยะเวลาที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกตินั้น กำลังใกล้เข้ามา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า การขยายตัวของค่าจ้างจะทำให้เงินเฟ้อมีเสถียรภาพมากขึ้น
บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การเจรจาค่าจ้างจะส่งผลให้ค่าจ้างคนงานของสหภาพแรงงานในบริษัทใหญ่ ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ราว 3.9% ต่อปี ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่มากที่สุดในรอบ 31 ปี และทำให้เกิดความคาดหวังว่า BOJ จะยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในเดือนเม.ย.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า BOJ ยืนยันมานานแล้วว่า ค่าจ้างต้องเพิ่มขึ้นก่อน จากนั้น BOJ ถึงจะยุติการทดลองทางการเงินที่ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปีได้ ซึ่งขณะนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาญี่ปุ่นออกจากวงจรภาวะเงินฝืดและความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรัง
ทั้งนี้ การเจรจาประจำปีในเรื่องค่าจ้างอยู่คู่กับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยเคยถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในยุคที่มีการเติบโตสูง ก่อนที่ความสำคัญของการประชุมดังกล่าวจะลดน้อยลงในช่วงหลายสิบปี หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ในขณะที่นานาบริษัทดิ้นรนเพื่อจัดการกับปัญหาหนี้สิน แรงงาน โรงงานและอุปกรณ์
อย่างไรก็ตาม การเจรจาค่าจ้างกลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ได้ให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นอันดับแรก เพื่อขจัดปัญหาการเติบโตของค่าจ้างอันแสนน้อยนิดที่เกิดขึ้นมานานหลายปี
นายทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนรินชูคิน กล่าวว่า "บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ อาจจะเสนอขึ้นค่าจ้างเกือบ 4% ในปีนี้ ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นให้ BOJ ยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในเดือนเม.ย." นอกจากนี้ วิกฤติด้านแรงงานที่รุนแรงในญี่ปุ่นยังเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างอีกด้วย