ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) พบว่า สภาวะทางธุรกิจในออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นในเดือนก.พ. 2567 โดยยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาขายปลีกก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ชะลอตัวลงง่าย ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลสำรวจดังกล่าวในวันนี้ (12 มี.ค.) โดยระบุว่า ดัชนีชี้วัดสภาวะทางธุรกิจปรับตัวขึ้น 3 จุด สู่ระดับ +10 ในเดือนก.พ. โดยกลับมาอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ +7
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจออสเตรเลียซึ่งมีความผันผวน ลดลง 1 จุด สู่ระดับ 0 ในเดือนก.พ. โดยปัจจัยฉุดตัวเลขดังกล่าวคือภาคธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากรายได้ของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่ในระดับสูง และภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา
ตัวชี้วัดยอดขายของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 5 จุด สู่ระดับ +14 ขณะที่ทั้งความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น 3 จุด สู่ระดับ +9 และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 จุด สู่ระดับ +6 ส่วนการใช้กำลังการผลิตลดลงสู่ระดับ 83.4% จากเดิมที่ 83.7%
นายอลัน ออสเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ NAB ระบุว่า "ยังเร็วไปที่จะบอกได้ว่านี่เป็นแค่การดีดตัวชั่วคราวหรือธุรกิจกำลังจะฟื้นตัวจริง ๆ"
นายอลันตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจภาคบริการอย่างการขนส่ง นันทนาการ บริการส่วนบุคคล การเงิน ธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ยังคงไปได้ดี แต่ธุรกิจค้าปลีกกับก่อสร้างยังคงอ่อนแอ
"ชัดเจนว่าต้นทุนการดำเนินธุรกิจยังคงสูง และดูเหมือนว่าหลาย ๆ บริษัทยังปรับขึ้นราคาสินค้าอีกด้วย" นายออสเตอร์กล่าวเสริม
ต้นทุนการสั่งซื้อในแต่ละไตรมาสขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.8% ในเดือนก.พ. ขณะที่ราคาขายปลีกปรับตัวขึ้น +1.4% ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นจาก +0.9% ในเดือนม.ค.
"ตัวเลขพวกนี้แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเงินเฟ้อเบาบางลงได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ด้านซัพพลายทั่วโลกฟื้นตัว แต่หลังจากนี้การชะลอตัวของเงินเฟ้ออาจไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น" นายออสเตอร์กล่าว
อนึ่ง ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ 4.35% เพื่อพยายามคุมเงินเฟ้อ และยังคงเตือนว่า อาจจะมีปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ ถึงแม้เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ตาม