ผลการศึกษาพบว่า ความเหลื่อมล้ำของอินเดียขยายตัวขึ้นอย่างมากภายใต้การบริหารของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ที่ดำรงตำแหน่งมานานเกือบ 10 ปี โดยในตอนนี้ประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของประเทศครอบครองความมั่งคั่ง 40% ของประเทศแล้ว
ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึง นายโธมัส พิเก็ตตี ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำชื่อดัง เผยให้เห็นว่า มหาเศรษฐี 1% ของประเทศหรือราว 9.2 ล้านคน มีรายได้คิดเป็น 22.6% ของรายได้รวมทั้งหมด และถือครองความมั่งคั่งมากกว่า 40% ของอินเดีย
ผู้เขียนระบุว่า ในปัจจุบันสังคมซึ่งนำโดย "ราชามหาเศรษฐี (Billionaire Raj)" ซึ่งเป็นพวกชนชั้นสูงสมัยใหม่ของอินเดีย มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของกษัตริย์อังกฤษ และเตือนว่า ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบทางสังคมในอินเดียได้ โดยความเหลื่อมล้ำขยายตัวขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจเปิดกว้างมากขึ้นในช่วงต้นทศวรรษค.ศ. 1990 แต่ "ระหว่างปี 2557-2558 และ 2565-2566 การขยายตัวขึ้นของความเหลื่อมล้ำในระดับสูงมีความเด่นชัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้น ประจวบเหมาะกับการขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และการเติบโตของชนชั้นมหาเศรษฐีของอินเดียที่นำโดยนายมูเกซ อัมบานี และนายโกตัม อดานี ขณะที่พรรคฝ่ายค้านของอินเดียกล่าวหารัฐบาลของนายโมดีมาอย่างยาวนานว่าเป็น "ทุนนิยมพวกพ้อง" และเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจบางประเภทที่ทำสัญญากับรัฐบาล
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่นายโมดีดำรงตำแหน่ง รายได้โดยรวมยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการออมและการลงทุนลดลงมานานกว่า 10 ปี จนถึงปี 2560-2561 และการส่งออกก็ลดลงด้วย