ข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า กลุ่มคนรวยที่สุดที่มีจำนวนเพียง 1% ในสังคมสหรัฐนั้นถือครองความมั่งคั่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 44.6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นไตรมาส 4/2566 อันเป็นผลจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในช่วงสิ้นปี ซึ่งหนุนพอร์ตการลงทุนของอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้อย่างมาก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานในวันนี้ (29 มี.ค.) ว่า ในไตรมาส 4/2566 เพียงไตรมาสเดียว มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิรวมของกลุ่มเศรษฐีระดับท็อปจำนวน 1% หรือผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์นั้น เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นทั้งหมดนั้นมาจากการถือครองหุ้น
มูลค่าของหุ้นสามัญและกองทุนรวมที่กลุ่มเศรษฐี 1% ถือครองนั้น พุ่งขึ้นจาก 17.65 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 19.7 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสดังกล่าว
ขณะที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ของคนกลุ่มเศรษฐี 1% เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ธุรกิจบริษัทเอกชนของคนกลุ่มนี้กลับมีมูลค่าลดลง ส่งผลให้กำไรในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากหุ้นจึงถูกหักล้างไปเกือบหมด
นับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ความมั่งคั่งของคนในกลุ่มเศรษฐี 1% ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 15 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 49% ส่วนชนชั้นกลางในสหรัฐ หรือกลุ่มคนจำนวน 50%-90% ของประชากร มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 50%
นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ตลาดหุ้นที่พุ่งสูงช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่าน "ผลกระทบจากความมั่งคั่ง" (Wealth effect) เมื่อผู้บริโภคและนักลงทุนเห็นพอร์ตหุ้นของตัวเองพุ่งขึ้น พวกเขาจึงมีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยและกล้าเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดบ่งชี้ให้เห็นว่า การถือครองหุ้นในสหรัฐยังคงกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย จากข้อมูลของเฟดพบว่าคนรวย 10% ของจำนวนประชากรถือครองหุ้นสามัญและกองทุนรวมถึง 87% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนกลุ่มคนรวยสุดจำนวน 1% ของประชากรถือครองหุ้นครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมด
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตลาดหุ้นที่ร้อนแรงส่งผลดีต่อกลุ่มคนรวยมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ทำให้มีอัตราการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าและบริการระดับไฮเอนด์สูงขึ้น ขณะที่ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยจะขึ้นอยู่กับค่าแรงและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์มากกว่ามูลค่าหุ้น
"ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดอยู่ในช่วง 1 ใน 3 ของการกระจายรายได้และเป็นเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่นั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการบริโภคทั้งหมด" นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาไลติกส์ (Moody's Analytics) กล่าว
ลิซ แอน ซอนเดอร์ส หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนของชาร์ลส์ ชวาบ (Charles Schwab) กล่าวว่า หุ้นคิดเป็น 37.8% ของสินทรัพย์โดยรวมของครัวเรือนในกลุ่มเศรษฐี 1% ณ สิ้นปี 2566 ฟื้นขึ้นจากระดับ 36.5%
ทว่าเนื่องจากคนรวยไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินส่วนที่ได้กำไรเพิ่มขึ้นมามากนัก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายของการบริโภค" (Marginal propensity to consume) ซอนเดอร์สกล่าวว่า ความมั่งคั่งจากหุ้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มคนรวยที่สุดจำนวน 1% นั้น จึงอาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจการบริโภคโดยรวม
ซอนเดอร์สตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 125,000 ดอลลาร์ต่อปีอยู่ในภาวะ "ลดลงในระยะยาว" ตั้งแต่ปี 2560 ตามข้อมูลจาก Conference Board
"แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นอาจเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายในระดับไฮเอนด์จะมากขึ้นเสมอไป" ซอนเดอร์สกล่าว
ด้วยดัชนี S&P 500 ที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว 10% ในปีนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่ากลุ่มคนระดับบนสุดในสหรัฐจะมีความมั่งคั่งทำสถิติสูงสุดใหม่เกินกว่าระดับในช่วงสิ้นปี 2566 แล้ว แม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงเล็กน้อยในปี 2564 และ 2565 เนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้นและราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น แต่นับจากนั้นมา ช่องว่างความมั่งคั่งก็ค่อย ๆ ย้อนกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% คิดเป็นสัดส่วน 30% ของความมั่งคั่งของสหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 ในขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดจำนวน 10% นั้น คิดเป็น 67% ของความมั่งคั่งทั้งหมด