ผลผลิตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวเต็มศักยภาพเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 4 ปีในไตรมาส 4/2566 ซึ่งส่งสัญญาณเชิงบวกว่าอาจหนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง
ทั้งนี้ BOJ ประมาณการในวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ส่วนต่างผลผลิตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งวัดส่วนต่างระหว่างผลผลิตที่แท้จริงและผลผลิตระดับศักยภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อยู่ที่ +0.02% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา
ตัวเลขล่าสุดนี้เป็นตัวเลขบวกครั้งแรกในรอบ 15 ไตรมาส ขณะที่ตัวเลขในไตรมาส 3 อยู่ที่ -0.37%
ส่วนต่างผลผลิตเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในข้อมูลเศรษฐกิจที่ BOJ จับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ในการประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวแข็งแกร่งเพียงพอที่จะหนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือไม่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ส่วนต่างผลผลิตที่เป็นบวกเกิดขึ้นในช่วงที่ผลผลิตที่แท้จริงแซงหน้าผลผลิตระดับเต็มศักยภาพ และถูกมองว่าเป็นสัญญาณของภาวะอุปสงค์แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ยังมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างพนักงาน และหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมาย 2% ที่ BOJ กำหนดเอาไว้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้ BOJ ได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่บังคับใช้มานาน 8 ปี และนโยบายที่ไม่ปกติอื่น ๆ ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งประวัติศาสตร์จากที่เคยมุ่งเน้นไปที่การขจัดเงินฝืดและการเพิ่มเงินหมุนเวียนด้วยการกระตุ้นด้านการเงินขนาดใหญ่มาหลายทศวรรษ