ผลสำรวจเปิดเผยในวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า การเติบโตของภาคการผลิตของอินเดียในเดือนเม.ย. 2567 ชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ยังคงสูง ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ เพิ่มการสั่งซื้อวัตถุดิบในอัตราที่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
HSBC เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของอินเดียที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 58.8 ในเดือนเม.ย. ลดลงจากระดับ 59.1 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และต่ำกว่าประมาณการเบื้องต้นที่คาดว่าตัวเลขจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว และถึงแม้ PMI ภาคการผลิตในเดือนเม.ย.จะอ่อนตัวลง แต่ก็ยังคงอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวและอยู่ในภาวะขยายตัวเป็นเดือนที่ 34
"ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย. บ่งชี้ถึงการปรับปรุงสภาพการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นอันดับ 2 ในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่แข็งแกร่ง" นางปราณจุล ภัณฑารี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำอินเดียของ HSBC กล่าว
ด้านดัชนีย่อยของปริมาณผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนเม.ย.ลดลงจากเดือนมี.ค. แต่ยังคงเป็นระดับสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความต้องการที่แข็งแกร่ง แม้ว่าความต้องการจากต่างประเทศจะอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ดี
ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ คาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าจะยังคงแข็งแกร่ง และจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นในเชิงบวกนี้ส่งผลให้โรงงานต่าง ๆ จ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เตรียมเพิ่มการผลิต บริษัทจึงได้สะสมวัตถุดิบในอัตราที่รวดเร็วเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจเมื่อ 19 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าสูงทำให้ดัชนีย่อยของราคาปัจจัยการผลิตและราคาขายสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดียที่ 2-6%
"ด้านราคานั้น ต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต" นางภัณฑารีกล่าวเสริม
"อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ ได้ผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ไปยังผู้บริโภคผ่านการปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้น เนื่องจากความต้องการยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตรากำไรดีขึ้น"