PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องในเดือนพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2024 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (5 มิ.ย.) ระบุว่า ภาคบริการของญี่ปุ่นขยายตัวแข็งแกร่งในเดือนพ.ค. 2567 แม้เผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) ขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 53.8 ในเดือนพ.ค. ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 54.3 ในเดือนเม.ย.

ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ดัชนี PMI ขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นอยู่เหนือระดับ 50 นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 และสูงกว่าค่า PMI ขั้นต้นที่ 53.6

นายเทรเวอร์ บัลชิน ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่า "การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการของญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไปในเดือนพ.ค. โดยอัตราการเติบโตของกิจกรรมและงานใหม่ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย"

ผลสำรวจระบุว่า แม้อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงในเดือนพ.ค. แต่ธุรกิจใหม่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวและเงินเยนที่อ่อนค่า

ปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ที่ได้รับจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการเปิดตัวดัชนีย่อยการส่งออกใหม่ในเดือนก.ย. 2557 เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงและความต้องการจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินเยนอ่อนค่าลงประมาณ 10% นับตั้งแต่ต้นปี

ขณะเดียวกัน อัตราราคาปัจจัยการผลิตลดลงเล็กน้อยในเดือนพ.ค.จากเดือนก่อนหน้าซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก ด้านผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง เป็นปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อ

ผู้ให้บริการได้ผลักภาระต้นทุนค่าจ้างและค่าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังลูกค้าในเดือนพ.ค. โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอยู่ต่ำกว่าระดับของเดือนเม.ย.ที่สูงเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย

"ด้วยต้นทุนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ความต้องการบริการเติบโตอย่างมั่นคง ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มจะขึ้นราคาสินค้าและบริการ" นายบัลชินกล่าว

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม BOJ ได้ส่งสัญญาณถึงแนวทางในการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

ทั้งนี้ ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้าย อยู่ที่ระดับ 52.6 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 52.3 ในเดือนเม.ย. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ