PMI รวมภาคการผลิต-บริการขั้นต้นยูโรโซน โตชะลอตัวในเดือนมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2024 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจเผยในวันนี้ (21 มิ.ย.) ว่า การเติบโตของภาคธุรกิจยูโรโซนชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนมิ.ย. เนื่องจากอุปสงค์ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ. โดยภาคบริการเริ่มแสดงสัญญาณของความอ่อนแอ ขณะที่ภาคการผลิตแย่ลง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนนี้ตามที่คาดการณ์กันไว้ และโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์สยังคาดการณ์ว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 50.8 ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับ 52.2 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 52.5 แต่ยังคงยืนเหนือระดับ 50 ได้เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

"ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตกำลังจะสิ้นสุดลงก่อนที่จะเริ่มต้นขึ้นหรือไม่ ขณะที่ภาคบริการยังคงเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจยูโรโซนเอาไว้" นายไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก HCOB กล่าว

ดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่โดยรวมลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 49.2 จาก 51.6

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 53.5

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ โดยดัชนีราคาผลผลิตภาคบริการลดลงสู่ระดับ 53.7 จาก 54.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี

"ECB อาจรู้สึกว่าทำถูกต้องแล้วที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย. เนื่องจากข้อมูลด้านราคาส่งสัญญาณถึงแรงกดดันที่ผ่อนคลายลงในภาคบริการของยูโรโซน อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ของ HCOB ไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนก.ค." นายเดอ ลา รูเบีย กล่าวเสริม

ด้านกิจกรรมการผลิตซึ่งซบเซามาเกือบ 2 ปี กลับสวนทางกับสัญญาณการฟื้นตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นหดตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 45.6 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 47.3 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 47.9

ดัชนีราคาผลผลิตภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 46.0 จาก 49.3

ภาวะขาลงดังกล่าวกดดันให้โรงงานต่าง ๆ ต้องลดจำนวนพนักงานลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน โดยดัชนีการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 47.5 จาก 47.9


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ