สถาบัน GfK และสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (26 มิ.ย.) ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนก.ค.นี้ หลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน โดยปรับลงเนื่องจากครัวเรือนยังคงมีความไม่มั่นใจจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ทำให้ครัวเรือนเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีอยู่ที่ -21.8 ในเดือนก.ค. ขยับลงเล็กน้อยจาก -21.0 ซึ่งเป็นระดับที่ปรับค่าแล้วในเดือนมิ.ย. และออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ -18.9
อนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะคาดการณ์ความคืบหน้าของการบริโภคที่แท้จริงในภาคเอกชนในเดือนหน้า โดยค่าที่เป็นบวกหมายถึงการบริโภคในภาคเอกชนมีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนค่าที่ติดลบคือการบริโภคในภาคเอกชนหดตัว
ดัชนีดังกล่าวสอดคล้องกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่บ่งชี้ถึงเส้นทางที่ยากลำบากสำหรับเยอรมนี หลังจากที่ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของ Ifo และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของ HCOB ต่างก็ปรับตัวลดลงแบบผิดคาดในเดือนนี้
นายรอล์ฟ เบอร์เคิล นักวิเคราะห์ด้านผู้บริโภคของ NIM กล่าวว่า "การชะงักของแนวโน้มขาขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะหลัง แสดงให้เห็นว่าเส้นทางสู่การบริโภคที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจะเป็นไปได้ยาก และอาจมีอุปสรรคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"
"อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยในเยอรมนีในเดือนพ.ค.กำลังสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้บริโภคมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากความเต็มใจที่จะออมที่เพิ่มขึ้น" นายเบอร์เคิลกล่าว
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.8% ในเดือนพ.ค. เนื่องจากราคาภาคบริการที่สูงขึ้น
นายเบอร์เคิลกล่าวว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อผู้บริโภคมีความมั่นคงในการวางแผน ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งได้หากแรงกดดันด้านราคาลดลง และแนวโน้มในอนาคตมีความชัดเจน
"นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องสื่อสารอย่างรวดเร็วและชัดเจนถึงภาระและความช่วยเหลือที่ประชาชนจะได้รับจากการหารือเรื่องงบประมาณที่จะเกิดขึ้นนี้" นายเบอร์เคิลกล่าวเสริม
สำหรับตัวชี้วัดความเต็มใจในการซื้อ อยู่ที่ -13.0 ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับ -12.3 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงความแตกต่างระหว่างคำตอบเชิงบวกและเชิงลบต่อคำถามที่ว่า "คุณคิดว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในการซื้อของชิ้นใหญ่หรือไม่"
ส่วนดัชนีความคาดหวังด้านรายได้ อยู่ที่ 8.2 ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับ 12.5 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานะทางการเงินของครัวเรือนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ดัชนีความคาดหวังวัฏจักรธุรกิจ อยู่ที่ 2.5 ในเดือนมิ.ย. ลดลงจากระดับ 9.8 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงการประเมินของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-10 มิ.ย. 2567