ผลสำรวจในวันนี้ (1 ก.ค.) เผยให้เห็นว่า ภาคการผลิตของเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. 2567 หลังผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ต่างหดตัวเร็วขึ้น
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีเดือนมิ.ย.จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) แตะที่ระดับ 43.5 ลดลงจาก 45.4 ในเดือนพ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขประมาณเบื้องต้น
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
"การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของคำสั่งซื้อใหม่ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ บ่งชี้ว่าเราคงต้องรอกันอีกหลายเดือนกว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวของภาคการผลิต" นายไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก HCOB กล่าว
นายเดอ ลา รูเบีย กล่าวเสริมว่า สาเหตุหนึ่งที่น่าจะอธิบายยอดสั่งซื้อส่งออกที่อ่อนแอได้คือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากจีน ซึ่งกำลังเร่งส่งออกสินค้าไปทั่วโลกเนื่องจากความต้องการภายในประเทศซบเซา
"สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบซ้ำสองต่อผู้ส่งออกเยอรมนี" นายเดอ ลา รูเบีย กล่าว โดยชี้ว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับการส่งออกไปจีนที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็ต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วงจรการระบายสต็อกยังไม่มีทีท่าจะจบลง โดยบริษัทต่าง ๆ รายงานว่าสินค้าคงคลังทั้งก่อนและหลังการผลิตปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทต่าง ๆ กลับมีมุมมองที่เป็นบวกต่ออนาคตมากขึ้นกว่าเดือนพ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับความหวังในการฟื้นตัวของการส่งออก การลงทุนที่เพิ่มขึ้น และภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าอีกด้วย
ในส่วนของราคา ความต้องการที่อ่อนแอลงยังคงกดดันให้ทั้งต้นทุนปัจจัยการผลิตและราคาขายส่งจากโรงงานปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงดังกล่าวเริ่มชะลอตัวลงเล็กน้อย