ผลสำรวจจาก au Jibun Bank ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) รายงานในวันนี้ (3 ก.ค.) ว่า ภาคบริการของญี่ปุ่นหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและตัวชี้วัดการจ้างงานยังคงสดใส
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมา ภาคบริการนับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยช่วยทดแทนภาคการผลิตที่ยังคงซบเซา
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของ au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 49.4 ในเดือนมิ.ย. ลดลงมาจากระดับ 53.8 ในเดือนพ.ค. ถือเป็นการปิดฉากการขยายตัว 21 เดือนติดต่อกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ตัวเลข PMI ที่ออกมานี้นับว่าอ่อนแอกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 49.8 และหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565
นายเทรเวอร์ บัลชิน ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า การลดลงของธุรกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.ไม่ได้หมายความว่าความต้องการในตลาดลดฮวบ แต่เป็นแค่การหยุดพักการเติบโตชั่วคราว
"ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่าตัวเลขพาดหัวข่าว จะเห็นว่าภาพรวมไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด" บัลชินกล่าว
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า อุปสงค์ในภาคบริการผู้บริโภค การเงินและประกันภัย ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์และบริการทางธุรกิจปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงสารสนเทศและการสื่อสาร กลับมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ เงินเยนที่อ่อนค่าลงกว่า 12% ในปีนี้ ยังช่วยกระตุ้นอุปสงค์จากต่างประเทศสำหรับภาคบริการของญี่ปุ่นอีกด้วย
แม้การเติบโตของการจ้างงานและความเชื่อมั่นทางธุรกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกัน ปัจจัยด้านค่าแรง ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน และค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ผลักดันให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ค่าแรงและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทต่าง ๆ ยังคงผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภค โดยอัตราการขึ้นราคาขายเฉลี่ยชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย.และพ.ค.
ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 49.7 ในเดือนมิ.ย. ลดลงมาจากระดับ 52.6 ในเดือนพ.ค. นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0