ญี่ปุ่นเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานลดลงเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 11, 2024 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (11 ก.ค.) ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลง 3.2% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่ลดลง 2.9% ในเดือนเม.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8%

การชะลอตัวของยอดสั่งซื้อเครื่องจักรอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ต้องการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ BOJ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 และตัดสินใจลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปรับลดแนวโน้มยอดสั่งซื้อเครื่องจักร โดยระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวกำลังชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานจะไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสำหรับการต่อเรือและซ่อมแซม รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มผันผวนสูง นอกจากนี้ยังไม่นับรวมยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่จะถูกจัดอยู่ในหมวดยอดสั่งซื้อจากภายนอกหรือยอดส่งออก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดสั่งซื้อทั้งหมด ขณะที่ยอดสั่งซื้อภายในประเทศคิดเป็น 30%

เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้น 10.8% ในเดือนพ.ค.

ผลสำรวจของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานขยายตัว 4.4% ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่คาดว่าจะลดลง 1.6% ในไตรมาส 2

การใช้จ่ายด้านทุนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกไม่กี่อย่างของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานและช่วยรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเรื้อรัง

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายในประเทศภายในปีงบประมาณ 2571 รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ให้ได้ระดับ 100 ล้านล้านเยน (6.1908 แสนล้านดอลลาร์)

อนึ่ง ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้แสดงให้เห็นว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้การใช้จ่ายด้านทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้หดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ