ผลสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่เผยแพร่ในวันนี้ (12 ก.ค.) ชี้ให้เห็นว่า บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขึ้นค่าจ้างให้พนักงานในปีนี้ โดยสาเหตุมาจากการขาดแคลนแรงงานและความพยายามที่จะช่วยเหลือพนักงานในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ
ผลสำรวจบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ มองว่าการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาที่จะคงอยู่ไปอีกนาน และต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง
ผลสำรวจระบุว่า แม้บริษัทหลายแห่งยังคงประสบปัญหาในการผลักภาระต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการ แต่ก็มีแนวโน้มที่บริษัทต่าง ๆ จะพิจารณาหรือเริ่มปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเริ่มปรับขึ้นค่าจ้างมากขึ้น ซึ่งปกติแล้วมักจะช้ากว่าบริษัทขนาดใหญ่นั้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ BOJ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
ข้อมูลจากเรนโก (Rengo) ซึ่งเป็นสมาพันธ์สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ระบุว่า เงินเดือนของพนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.10% ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งถือเป็นการขึ้นค่าจ้างมากที่สุดในรอบ 30 ปี
เรนโก ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 7 ล้านคน กล่าวว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 300 คนขึ้นไป ปรับขึ้นค่าจ้าง 5.19% ส่วนบริษัทขนาดเล็กขึ้นค่าจ้างให้น้อยกว่า คือ 4.45%