งานวิจัยฉบับใหม่จากติ๊กต๊อก (TikTok) และบริษัทวิเคราะห์ คันทาร์ (Kantar) เผยว่า การใช้จ่ายด้านสินค้าเชิงวัฒนธรรมเกาหลีทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวขึ้นเกือบเท่าตัวสู่ระดับ 1.43 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความนิยมคอนเทนต์เกาหลี หรือ K-content ได้รับการขยับขยายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานออกมาแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ที่มีต่อละคร เพลงป็อป อาหาร และเครื่องสำอางเกาหลี โดยติ๊กต๊อก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายจากคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่คนหนุ่มสาวออกมาเต้นในเพลงโปรด ได้กลายเป็นแหล่งรวมพลแฟนเพลงเกาหลี ซึ่งติ๊กต๊อกได้มีการขยายไปสู่วัฒนธรรมและประเพณีของเกาหลีมากขึ้น
รายงานระบุว่า ขนาดตลาดปัจจุบันของฮอลยู (Hallyu) หรือ "กระแสเกาหลี" ซึ่งเป็นคำที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลี คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และคอนเทนต์ไวรัลเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีน่าจะผลักดันให้มูลค่าดังกล่าวสูงขึ้นอีกจากการดึงดูดผู้ชมที่ใหญ่ขึ้นในตลาดสำคัญต่าง ๆ เช่น สหรัฐ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการใช้จ่ายโดยรวมอาจสูงถึง 198 ดอลลาร์ต่อหัวภายในช่วงปลายทศวรรษนี้ หากผู้ที่มีกำลังซื้อเริ่มซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และความบันเทิงของเกาหลี
เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นตำรับด้านการส่งออกวัฒนธรรมรายใหญ่ของเอเชียเหนือแล้ว ผลลัพธ์ดังกล่าวของเกาหลีใต้ยังถือว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียกำลังทำให้เกาหลีใต้ตีตื้นเข้ามาเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นที่รู้จักในด้านการส่งออกสินค้าที่จับต้องได้ ตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเหล่านั้นยังคงครองแชมป์ในแง่เศรษฐกิจ โดยกระแสเกาหลีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นกำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและเป็นผลดีต่อซอฟต์พาวเวอร์และแบรนด์ต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ที่วัดผลเป็นตัวเลขได้ยาก