PMI ขั้นต้นเดือนก.ค.ชี้ ภาคธุรกิจอินเดียโตแรงสุดในรอบ 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2024 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจจาก HSBC ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยในวันนี้ (24 ก.ค.) ว่า กิจกรรมทางธุรกิจของอินเดียขยายตัวเร็วสุดในรอบ 3 เดือนในเดือนก.ค. 2567 แรงหนุนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการ นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทต่าง ๆ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 18 ปี อีกด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่ประกาศจะสนับสนุนการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและกระตุ้นการจ้างงาน

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของอินเดีย แตะระดับ 61.4 ในเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้นจากระดับ 60.9 ในเดือนมิ.ย. โดยยืนเหนือระดับ 50 มาตลอด 3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ปราณจุล ภัณฑารี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำอินเดียของ HSBC กล่าวว่า "ดัชนีผลผลิตรวมขั้นต้นชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนของอินเดียยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง"

"การเติบโตของผลผลิตในเดือนก.ค. ได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิต ขณะที่ภาคบริการก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว"

ด้านดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของอินเดีย แตะระดับ 61.1 ในเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้นจากระดับ 60.5 ในเดือนมิ.ย. และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของอินเดีย แตะระดับ 58.5 ในเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้นจากระดับ 58.3 ในเดือนมิ.ย. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.

รายงานระบุว่า ปัจจัยบวกจากสภาวะตลาดที่ดี ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมในภาคเอกชน ทั้งธุรกิจใหม่ในภาคบริการและคำสั่งซื้อในภาคการผลิตยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

การจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2549 ช่วยหนุนความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมในช่วงต้นไตรมาสนี้ หลังจากที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนในเดือนมิ.ย.

"บริษัทต่าง ๆ มองโลกในแง่ดีมากขึ้นในเดือนก.ค. หลังจากที่ชะลอตัวลงในเดือนมิ.ย." ภัณฑารีกล่าวเสริม

"อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของต้นทุนการผลิตยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นในทั้งสองภาคส่วน ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขาย"

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 11 ปี แต่ความต้องการที่แข็งแกร่งทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าแรง ไปยังผู้บริโภคได้

ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลต่อการตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 4% ในระยะกลาง โดยปัจจุบัน คาดว่า RBI จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในไตรมาสหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ