สถาบัน GfK และสถาบันนูเรมเบิร์กเพื่อการตัดสินใจด้านตลาด (NIM) เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (24 ก.ค.) ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในเดือนส.ค. โดยความคาดหวังต่อรายได้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเล็กน้อยและการปรับขึ้นค่าจ้างที่เห็นได้ชัด
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีอยู่ที่ -18.4 ในเดือนส.ค. ขยับขึ้นจาก -21.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปรับค่าแล้วในเดือนก.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -21.0
อนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะคาดการณ์ความคืบหน้าของการบริโภคที่แท้จริงในภาคเอกชนในเดือนหน้า โดยค่าที่เป็นบวกหมายถึงการบริโภคในภาคเอกชนมีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนค่าที่ติดลบคือการบริโภคในภาคเอกชนหดตัว
การเพิ่มขึ้นของดัชนีเป็นผลมาจากความคาดหวังด้านรายได้ของผู้บริโภคในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 ขณะที่ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจและความเต็มใจในการซื้อก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
นายรอล์ฟ เบอร์เคิล นักวิเคราะห์ด้านผู้บริโภคของ NIM กล่าวว่า แม้ความคาดหวังด้านรายได้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้น แต่ "เป็นไปได้อย่างมากว่า กระแสความตื่นเต้นของประชาชนต่อการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปก็มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม นายเบอร์เคิลย้ำเตือนว่า "ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่าผลกระทบนี้จะยั่งยืนหรือเป็นแค่ไฟไหม้ฟางเท่านั้น"
"ความรู้สึกฮึกเหิมนี้เกิดขึ้นเร็วฉันใด ก็อาจจางหายไปเร็วฉันนั้น ถ้าเป็นอย่างหลัง เส้นทางการฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในการจับจ่ายใช้สอยก็คงกินเวลายาวนานและเหนื่อยหนักแน่" นายเบอร์เคิลกล่าวเสริม
สำหรับตัวชี้วัดความเต็มใจในการซื้อ อยู่ที่ระดับ -8.4 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ -13.0 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงความแตกต่างระหว่างคำตอบเชิงบวกและเชิงลบต่อคำถามที่ว่า "คุณคิดว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในการซื้อของชิ้นใหญ่หรือไม่"
ส่วนดัชนีความคาดหวังด้านรายได้ อยู่ที่ระดับ 19.7 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.2 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานะทางการเงินของครัวเรือนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ดัชนีความคาดหวังวัฏจักรธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 9.8 ในเดือนก.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวแสดงถึงการประเมินของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 4-16 ก.ค. 2567