รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (26 ก.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด แตะที่ระดับ 2.2% ในเดือนก.ค. 2567 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.1% ในเดือนมิ.ย.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนี Core CPI ของกรุงโตเกียว ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดแนวโน้ม CPI ทั่วประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทยอยยกเลิกมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลที่เคยช่วยลดค่าสาธารณูปโภค
ส่วนดัชนี Core-Core CPI ของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด และเป็นดัชนีที่ BOJ กำลังจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะตัวชี้วัดสำคัญของแนวโน้มเงินเฟ้อในวงกว้างนั้น แตะที่ระดับ 1.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากระดับ 1.8% ในเดือนมิ.ย. และถือเป็นอัตราชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.4%
ข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นก่อนการประชุมนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน สิ้นสุดในวันพุธหน้า (31 ก.ค.) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOJ จะหารือกันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลดขนาดการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลอย่างไรบ้าง
"การชะลอตัวอย่างมากของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในโตเกียวในเดือนนี้ ช่วยลดโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า แต่เรายังคงคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.3%" นายมาร์เซล เธียเลียนท์ หัวหน้าฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิกของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าว
เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา BOJ ได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานาน 8 ปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการเงินแบบสุดโต่งอื่น ๆ เนื่องจาก BOJ ประเมินว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ที่ตั้งไว้นั้น มีแนวโน้มที่จะบรรลุได้อย่างยั่งยืนแล้ว
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ศูนย์ในปัจจุบัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งพิจารณาจากดัชนี CPI และตัวชี้วัดราคาในวงกว้าง เร่งตัวขึ้นเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ตามที่ BOJ คาดการณ์ไว้
BOJ คาดการณ์ว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะดันราคาบริการต่าง ๆ ให้สูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ BOJ ตั้งไว้ก่อนที่จะทยอยยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติมต่อไป