ผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (1 ส.ค.) ชี้ว่า กิจกรรมภาคโรงงานของญี่ปุ่นหดตัวเล็กน้อยในเดือนก.ค. อันเนื่องมาจากความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ซบเซา รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลสำรวจล่าสุดนี้เปิดเผยหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดแผนการลดการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาล ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการทยอยยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 49.1 ในเดือนก.ค. ลดลงมาจากระดับ 50 ในเดือนมิ.ย. โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และใกล้เคียงกับตัวเลข PMI ภาคการผลิตขั้นต้นที่ 49.2
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
นายอุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า "ภาคการผลิตของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 เริ่มต้นได้ไม่ดีนัก"
ผลสำรวจระบุว่า ยอดคำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์
นายภัตติกล่าวว่า แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างชัดเจน ทว่าแม้ต้นทุนจะพุ่งขึ้น แต่บริษัทส่วนใหญ่เลือกที่จะขึ้นราคาสินค้าแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาด
ดัชนีราคาปัจจัยการผลิตพุ่งสูงขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566 โดยบริษัทต่าง ๆ ระบุว่าสาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบ ค่าแรง น้ำมัน และค่าขนส่งที่แพงขึ้น รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง
ผลสำรวจชี้ว่า ราคาผลผลิตในเดือนก.ค.ปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นการขึ้นราคาที่น้อยที่สุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พยายามรักษาความสามารถในการแข่งขัน
แม้จะมีบรรยากาศไม่สู้ดีนัก แต่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนก.ค.ยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ คาดการณ์ว่าความต้องการทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศจะฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าใหม่และผลักดันแผนขยายธุรกิจต่อไปได้