ผลสำรวจในวันนี้ (1 ส.ค.) เผยว่า กิจกรรมภาคการผลิตในยูโรโซนยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือนก.ค. โดยผลผลิตร่วงลงแรงที่สุดในปีนี้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบาก
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 45.8 ในเดือนก.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขประมาณการขั้นต้นที่ 45.6 โดยตัวเลขอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มานานกว่า 2 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ดัชนีชี้วัดผลผลิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการที่จะประกาศในวันจันทร์หน้า (5 ส.ค.) ลดลงจากระดับ 46.1 ในเดือนมิ.ย. สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.6 ในเดือนก.ค. แม้จะสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 45.3 ก็ตาม
นายไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก HCOB กล่าวว่า "ความเชื่อที่ว่าการฟื้นตัวของยูโรโซนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังกำลังถูกสั่นคลอน"
"จากข้อมูลที่อ่อนแอเช่นนี้ เราอาจจำเป็นต้องปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP สำหรับปีนี้จาก 0.8% โดยในบรรดาประเทศที่ครอบคลุมในการสำรวจ PMI มีเพียงกรีซและสเปนเท่านั้นที่ยังคงเติบโต ถึงกระนั้นก็เติบโตแบบชะลอตัวลงอย่างมาก"
ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนก.ค.ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมคาดว่าจะเติบโต 0.7% ในปีนี้
ขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อก็ลดลงต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี โดยลดลงยิ่งกว่าเดิมในเดือนก.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าจะไม่มีการพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว โดยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ลดลงเหลือ 44.1 จาก 44.4
โรงงานต่าง ๆ ได้ปรับลดราคาลง แม้ว่าต้นทุนของโรงงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่านั้นก็ตาม
"ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมีความรู้สึกก้ำกึ่งกับเรื่องนี้ จริงอยู่ว่าราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นอาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่อัตรากำไรที่ลดลงก็อาจช่วยควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน" นายเดอ ลา รูเบีย กล่าวเสริม