กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลในวันนี้ (6 ส.ค.) ว่า ค่าแรงที่แท้จริงที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นแล้ว เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย.เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยค่าแรงที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี ซึ่งสนับสนุนมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ว่าค่าแรงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
ข้อมูลระบุว่า ค่าแรงที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน หลังจากที่ลดลง 1.3% ในเดือนพ.ค.
ส่วนค่าแรงที่เป็นตัวเงิน ซึ่งเป็นรายได้รวมในรูปเงินสดเฉลี่ยต่อพนักงาน เพิ่มขึ้น 4.5% โดยอยู่ที่ 498,884 เยน (3,480 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถือเป็นการเติบโตเร็วที่สุดตั้งแต่เดือนม.ค. 2540
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงมากกว่าที่คาดในเดือนเดียวกัน ส่งผลให้แนวโน้มที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ชัดเจน
การใช้จ่ายครัวเรือนลดลง 1.4% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.9% ซึ่งบ่งชี้ว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ต้องการเพิ่มการใช้จ่าย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เปิดเผยว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลัง BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงได้เช่นกัน