PMI ภาคการผลิตขั้นต้นญี่ปุ่นหดตัวช้าลงในเดือนส.ค. แต่ภาคบริการขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2024 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่เผยแพร่ในวันนี้ (22 ส.ค.) บ่งชี้ว่า กิจกรรมในภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัวในเดือนส.ค. 2567 เนื่องจากความต้องการที่ยังซบเซา แม้ว่าหดตัวในอัตราช้าลงก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ภาคบริการกลับขยายตัว สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่ดีขึ้นในบางอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นยังคงกังวลเรื่องราคาที่พุ่งสูงขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการ

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 49.5 ในเดือนส.ค. จากระดับ 49.1 ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 54.0 ในเดือนส.ค. จากระดับ 53.7 ในเดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจใหม่ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกที่ดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการคึกคักขึ้น

ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 53.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566 จากระดับ 52.5 ในเดือนก.ค.

"เราเห็นความแตกต่างของแนวโน้มความต้องการอย่างชัดเจน โดยภาคบริการมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ในทางตรงกันข้าม ภาคการผลิตสินค้ากลับมีความต้องการที่ซบเซา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจับตามองอย่างใกล้ชิด" จิ้งอี๋ พาน รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) ซึ่งเป็นผู้จัดทำการสำรวจนี้กล่าว

ในเดือนส.ค. ดัชนีย่อยสำหรับคำสั่งซื้อใหม่หดตัวช้าลงกว่าเดิม ขณะที่ดัชนีสำหรับผลผลิตกลับขยายตัว เนื่องจากมีพนักงานมากขึ้น ทำให้สามารถจัดการกับงานค้างในภาคการผลิตได้ดีขึ้น

ราคาผลผลิตปรับตัวขึ้นช้าลงในเดือนส.ค. เนื่องจากผู้ผลิตไม่กล้าขึ้นราคาขาย แม้ว่าต้นทุนปัจจัยการผลิตโดยเฉลี่ยจะพุ่งสูงขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแรงกดดันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ