PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายญี่ปุ่นส่งสัญญาณฟื้นตัวในเดือนส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2024 09:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มปรากฏสัญญาณบวก เมื่อผลสำรวจภาคเอกชนชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในเดือนส.ค. 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 49.8 ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นจาก 49.1 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 49.5 แม้ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า ดัชนี PMI ใกล้เคียงกับระดับคงตัวมากขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากการผลิตที่กลับมาขยายตัว และคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงในอัตราที่ชะลอตัว

ดัชนีผลผลิตในเดือนส.ค.ขยายตัวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 พลิกกลับจากการหดตัวในเดือนก.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น และการผลิตสินค้ารุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศยังคงซบเซา แต่อัตราการลดลงชะลอตัวจากเดือนก.ค. โดยบริษัทบางแห่งระบุถึงปัญหาสินค้าคงคลังมากเกินไป และการลงทุนที่อ่อนแอของลูกค้า

ส่วนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน และเกาหลีใต้

แม้การส่งออกที่อ่อนแอจะสร้างความกังวลต่อผู้กำหนดนโยบาย แต่การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ และสนับสนุนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้จะยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม

ดัชนี PMI ยังชี้ว่า ต้นทุนการผลิตปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566 โดยเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ และผู้กำหนดนโยบายกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางแรงกดดันต่อครัวเรือนจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น บริษัทต่าง ๆ ได้ปรับขึ้นราคาขาย แต่อยู่ในอัตราที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564

ภัตติกล่าวว่า ข้อมูลด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูงในเดือนส.ค. ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มธุรกิจในอนาคต โดยผู้ผลิตคาดการณ์ว่ายอดขายและอุปสงค์ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ จะปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่าอุปสงค์และเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับ BOJ ในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในปีหน้า


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ