PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายญี่ปุ่นโตต่อในเดือนส.ค. สวนทางเศรษฐกิจโลกซบเซา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 4, 2024 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจภาคเอกชนในวันนี้ (4 ก.ย.) พบว่า ภาคบริการของญี่ปุ่นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในเดือนส.ค. 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 53.7 ในเดือนส.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค. โดยอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ ผู้จัดทำผลสำรวจ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566

"การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคบริการ ประกอบกับการฟื้นตัวของผลผลิตในภาคการผลิต ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคเอกชนของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง" ภัตติกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 52.9 ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นจาก 52.5 ในเดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของผลผลิตในภาคการผลิต

แม้ตัวเลข PMI ภาคบริการโดยรวมจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก.ค. แต่การเติบโตของธุรกิจใหม่ในภาคบริการกลับชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกในภาคบริการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวในเดือนก.ค. โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจภาคบริการโดยรวม

ในทางตรงกันข้าม ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นในเดือนส.ค.ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (2 ก.ย.) กลับบ่งชี้ว่าการส่งออกในภาคการผลิตของญี่ปุ่นอ่อนแอที่สุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากความต้องการในจีน เกาหลีใต้ และตลาดสำคัญอื่น ๆ ชะลอตัวลง

ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นล่าสุดเผยว่า การส่งออกในเดือนก.ค.เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอตัวลงอีก เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและสภาพตลาดที่ซบเซา

ความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของญี่ปุ่น และส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งได้ส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ข้อมูล PMI เดือนส.ค.ยังแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการและความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนและ 19 เดือน ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ