ข้อมูลที่เผยแพร่ในวันนี้ (12 ก.ย.) บ่งชี้ว่า มาตรวัดเงินเฟ้อจากภาคค้าส่งของญี่ปุ่นในเดือนส.ค. 2567 ชะลอตัวลงเนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าช่วยลดต้นทุนนำเข้า ซึ่งได้คลายแรงกดดันของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ข้อมูลจาก BOJ ระบุว่า ดัชนีราคาสินค้าผู้ประกอบการ (corporate goods price index - CGPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาสินค้าและบริการที่สั่งซื้อโดยบริษัทญี่ปุ่น หรือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้น ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.ที่ขยายตัว 3.0% และตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%
รายงานระบุว่า เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนส.ค.ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้านำเข้าที่คิดเป็นเงินเยนเพิ่มขึ้นเพียง 2.6% ในช่วง 12 เดือนถึงเดือนส.ค. ซึ่งลดลงอย่างมากจากเดือนก.ค.ที่พุ่งขึ้นถึง 10.8%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CGPI ลดลง 0.2% ในเดือนส.ค. เช่นเดียวกับดัชนีราคาสินค้านำเข้าที่คิดเป็นเงินเยน ซึ่งก็ลดลง 6.1% ในเดือนส.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อในภาคค้าส่ง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อราคาสินค้าผู้บริโภคในวงกว้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจมีผลต่อการตัดสินใจของ BOJ ว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปเมื่อใด
BOJ ยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.25% ในเดือนก.ค. เนื่องจากมองว่า ญี่ปุ่นกำลังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืน
คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงเกินเป้าหมายเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ BOJ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.
นอกจากนี้ อุเอดะยังส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หากเงินเฟ้อผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มจะแตะ 2% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทางคณะกรรมการฯ ว่า อัตราเงินเฟ้อจะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง