สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (27 ก.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น แตะเป้าหมาย 2.0% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในเดือนก.ย. จากปีก่อนหน้า โดยดัชนี Core CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารสด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวชะลอตัวลงจากระดับ 2.4% ในเดือนส.ค. โดยส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐบาลกลับมาให้เงินอุดหนุนเพื่อควบคุมค่าสาธารณูปโภค ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังมีความคืบหน้าในการบรรลุเกณฑ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ของกรุงโตเกียวถือเป็นดัชนีชี้นำภาวะเงินเฟ้อทั่วประเทศญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในต่างประเทศอาจกระตุ้นให้ BOJ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในเดือนต.ค.นี้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่แข็งแกร่งจะทำให้ตลาดยังคงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.นี้หรือต้นปีหน้า
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI ของกรุงโตเกียวที่ไม่รวมผลกระทบของทั้งอาหารสดและต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่ง BOJ จับตามองอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแนวโน้มเงินเฟ้อในวงกว้าง เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนก.ย.จากปีก่อนหน้า หลังจากที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันในเดือนส.ค.
ราคาบริการเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าบริษัทต่าง ๆ กำลังส่งผ่านต้นทุนแรงงานจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค ตามที่ BOJ คาดการณ์
ทั้งนี้ BOJ ยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นเป็น 0.25% ในเดือนก.ค. โดยมองว่าญี่ปุ่นกำลังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องไปสู่การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% อย่างยั่งยืน
ก่อนหน้านี้ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มที่จะแตะ 2% อย่างมั่นคงตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเขาจะย้ำว่า BOJ จะใช้เวลาประเมินว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวที่เปราะบางของญี่ปุ่นอย่างไร
อนึ่ง เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 2.9% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่การใช้จ่ายด้านทุน (CapEx) ยังคงเติบโต แม้อุปสงค์ที่อ่อนตัวในจีนและการเติบโตของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก