ผลสำรวจภาคเอกชนที่เปิดเผยในวันนี้ (1 ต.ค.) บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนก.ย.ยังคงซบเซา โดยทั้งผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่หดตัว ซึ่งสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความต้องการจากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.7 ในเดือนก.ย. จาก 49.8 ในเดือนส.ค. แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลข PMI ขั้นต้นเล็กน้อยที่ 49.6 โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
อุซามะฮ์ ภัตติ จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) ผู้จัดทำผลสำรวจระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึง "แนวโน้มที่ซบเซาทั่วทั้งอุตสาหกรรมการผลิต"
ดัชนีย่อยด้านผลผลิตหดตัวเล็กน้อยในเดือนก.ย. เนื่องจากขาดธุรกิจใหม่เข้ามา ส่วนคำสั่งซื้อใหม่ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 โดยบริษัทต่าง ๆ ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา การปรับสต๊อกสินค้า และการขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ ยอดขายที่ซบเซาในสหรัฐฯ และจีนยังส่งผลให้ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565
แม้การจ้างงานในภาคการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือนก.ย. แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราช้าที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว
ผู้ผลิตยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงาน และโลจิสติกส์ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนก็ตาม บริษัทต่าง ๆ พยายามผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ไปยังลูกค้าบางส่วนด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่อัตราการขึ้นราคาก็ช้าที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564
ในแง่มุมมองต่ออนาคตนั้น ผู้ผลิตยังคงมองโลกในแง่ดี โดยคาดหวังว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวและการผลิตสินค้าใหม่จำนวนมากจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าความเชื่อมั่นจะอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 ก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ยังหวังว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์จะฟื้นตัว