ผลสำรวจล่าสุดเปิดเผยในวันนี้ (1 ต.ค.) ว่า ภาคการผลิตของเยอรมนีในเดือนก.ย.หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบปี โดยมีปัจจัยหลักจากการลดลงอย่างรวดเร็วของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนี จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ซึ่งรวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ทรุดตัวลงสู่ระดับ 40.6 ในเดือนก.ย.จาก 42.4 ในเดือนส.ค. นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า PMI ขั้นต้นเล็กน้อยที่ 40.3
ไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ HCOB แสดงความเห็นว่า "ตัวเลขเหล่านี้กำลังจุดชนวนการถกเถียงเรื่องการลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ... เมื่อคำสั่งซื้อแห้งเหือดในอัตราที่น่าใจหาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้"
คำสั่งซื้อใหม่ดิ่งลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีก่อน สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของตลาด ความลังเลในการลงทุน และความซบเซาในอุตสาหกรรมยานยนต์
นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าส่งออกยังร่วงหนักสุดในรอบ 11 เดือน โดยบริษัทต่าง ๆ ชี้ว่าความต้องการจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือลดลง
"ถ้าย้อนดูสถิติ 30 ปีที่ผ่านมา การทรุดตัวของคำสั่งซื้อส่งออกครั้งนี้ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" เดอ ลา รูเบีย กล่าวเสริม "บริษัทจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคยานยนต์และวิศวกรรมเครื่องกล ยังหาทางรับมือกับการแข่งขันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันไม่ได้"
ผลสำรวจระบุว่า การปรับลดกำลังคนเร่งตัวขึ้นในเดือนก.ย. ส่งผลให้การจ้างงานในโรงงานหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 4 ปี
ความเชื่อมั่นทางธุรกิจดิ่งลงจนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทที่ร่วมสำรวจคาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยอ้างว่าสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่อ่อนแรงลง ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาในภาคยานยนต์