ผลสำรวจล่าสุดเปิดเผยในวันนี้ (1 ต.ค.) ว่า กิจกรรมภาคการผลิตในยูโรโซนเดือนก.ย.ดิ่งลงอย่างหนัก โดยหดตัวเร็วที่สุดในปีนี้ สาเหตุมาจากอุปสงค์ที่ร่วงลงแรง แม้โรงงานจะพยายามลดราคาสินค้าลงแล้วก็ตาม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ขั้นสุดท้ายของยูโรโซน จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ซึ่งรวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ทรุดตัวลงสู่ระดับ 45.0 ในเดือนก.ย. แม้จะสูงกว่า PMI ขั้นต้นที่ 44.8 เล็กน้อย
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีวัดผลผลิต ซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (3 ต.ค.) และมักใช้เป็นเครื่องชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจ ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ 44.9 จาก 45.8 ในเดือนส.ค. แต่ยังคงสูงกว่าตัวเลขประเมินเบื้องต้นที่ 44.5
ไซรัส เดอ ลา รูเบีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ HCOB วิเคราะห์ว่า "ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนน่าจะหดตัวราว 1% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และด้วยคำสั่งซื้อที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เราคาดว่าการผลิตจะลดลงอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้"
สัญญาณบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะความต้องการลดลงเร็วที่สุดในปีนี้ แม้โรงงานจะกลับมาลดราคาสินค้าแล้วก็ตาม โดยดัชนีราคาผลผลิตร่วงลงมาอยู่ที่ 49.2 จาก 51.1
"ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงจะพอใจที่เห็นราคาซื้อลดลงในเดือนก.ย. โดยเฉพาะหลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน การลดลงของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติช่วยให้ต้นทุนปัจจัยการผลิตปรับตัวลดลง และบริษัทต่าง ๆ ก็ได้ส่งผ่านผลประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนบางส่วนนี้ไปยังผู้บริโภคด้วย" เดอ ลา รูเบีย กล่าว
"แต่เราก็ไม่ควรวางใจ เพราะการลดลงของราคาเหล่านี้อาจไม่ยั่งยืน เมื่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางร้อนระอุขึ้น ก็มีความเป็นไปได้เสมอที่ราคาพลังงานจะพุ่งทะยานอีกครั้ง"