ผลสำรวจจากภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (24 ต.ค.) เผยให้เห็นข้อมูลเบื้องต้นว่า กิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนต.ค.นี้ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงและความต้องการสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ
เอสแอนด์พี โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Intelligence) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.0 ในเดือนต.ค. จาก 49.7 ในเดือนก.ย. และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 มาแล้ว 4 เดือนติดต่อกัน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
"คำสั่งซื้อใหม่ลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ" อุซามะฮ์ ภัตติ นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ กล่าว
"สภาพดีมานด์ที่ซบเซานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่คำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศก็ทรุดหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2566"
ดัชนีย่อยด้านยอดคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิตของญี่ปุ่นอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว และในเดือนต.ค.นี้ก็ยิ่งลดต่ำลงไปอีก นอกจากนี้ ตัวเลขการผลิตก็หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แล้วในเดือนต.ค.
ส่วนด้านการส่งออก ข้อมูลล่าสุดจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การส่งออกในเดือนก.ย.หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงในตลาดจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.3 ในเดือนต.ค. จาก 53.1 ในเดือนก.ย. ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2565
ผลสำรวจชี้ว่า บริษัทในภาคบริการต่างรายงานตรงกันว่า ลูกค้าเริ่มชะลอการสั่งซื้อสินค้าและบริการใหม่ ๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งในญี่ปุ่นเองและในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ดัชนีรวมที่สะท้อนมุมมองทั้งภาคการผลิตและบริการยังแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ปรับตัวลงในเดือนต.ค. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นจาก au Jibun Bank ลดลงมาอยู่ที่ 49.4 ในเดือนต.ค. ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
ผลสำรวจโดยรอยเตอร์ช่วงต้นเดือนต.ค.ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ย. แม้ว่ายังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้เหลือเพียง 0.3% ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 2566 ที่เติบโต 1.7%