ดัชนี PMI ชี้ ภาคการผลิตเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังผลผลิตทรุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2024 09:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจของภาคเอกชนที่เผยแพร่ในวันนี้ (1 พ.ย.) ระบุว่า กิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนต.ค. และผลผลิตลดลงมากที่สุดในรอบ 16 เดือน นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ว่าความต้องการสินค้าในตลาดโลกกำลังชะลอตัวลง

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเกาหลีใต้ ซึ่งจัดทำโดยเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) อยู่ที่ 48.3 ในเดือนต.ค. เท่ากับตัวเลขของเดือนก.ย.ที่ผ่านการปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

ในเดือนก.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ได้ร่วงลงต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และยังเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566

ผลสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตลดลงเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ได้รับคำสั่งซื้อน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่การลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนต.ค.ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

การลดลงของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย แม้บริษัทต่าง ๆ ยังรายงานว่าความต้องการสินค้าในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ยังคงอ่อนแอ

"เนื่องจากภาคการผลิตนี้มักถูกใช้เป็นตัวชี้นำทิศทางการส่งออกทั่วโลก ข้อมูลในเดือนต.ค.จึงส่งสัญญาณว่าการค้าโลกและกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมกำลังค่อย ๆ ชะลอตัวลง" อุซามะฮ์ ภัตติ นักเศรษฐศาสตร์จากเอสแอนด์พี โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กิจกรรมการจัดซื้อหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และปริมาณแบคล็อคก็ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้มักเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้นยังไม่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตต่อแนวโน้มธุรกิจในปีหน้าเริ่มดีขึ้นในเดือนต.ค ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในเดือนก.ย. ความเชื่อมั่นได้ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นนี้มาจากความหวังของบริษัทต่าง ๆ ที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ